การอ่านจับใจความ

อ่านจับใจความ





อ่านจับใจความ คือ การอ่านที่มุ่งค้นหาสาะของเรื่องหรือของหนังสือแต่ละเล่มที่เป็นส่วน

ใจความสำคัญ และส่วนขยายใจความสำคัญของเรื่อง

             ใจความสำคัญของเรื่อง คือ ข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือเรื่องนั้นทั้งหมด 

ข้อความอื่นๆ เป็นเพียงส่วนขยายใจความสำคัญเท่านั้น ข้อความหนึ่งหรือตอนหนึ่งจะมีใจความสำคัญที่สุด

เพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นเป็นใจความรอง คำว่าใจความสำคัญนี้ ผู้รู้ได้เรียกไว้เป็นหลายอย่าง เช่น ข้อคิดสำคัญ

ของเรื่อง แก่นของเรื่อง หรือ ความคิดหลัก ของเรื่องแต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญก็คือ

สิ่งที่เป็นสาระที่สำคัญที่สุดของเรื่องนั่นเอง

             ใจความสำคัญส่วนมากจะมีลักษณะเป็นประโยค ซึ่งอาจปรากฏอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของย่อหน้าก็ได้

             จุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องในแต่ละย่อหน้ามากที่สุดคือ ประโยคที่อยู่ตอนต้นย่อหน้า 

เพราะผู้เขียนมักบอกประเด็นสำคัญไว้ก่อน แล้วจึงขยายรายละเอียดให้ชัดเจน รองลงมาคือประโยคตอนท้ายย่อหน้า

โดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดหรือประเด็นย่อยก่อน แล้วจึงสรุปด้วยประโยคที่เป็นประเด็นไว้ภายหลัง

สำหรับจุดที่พบใจความสำคัญยากขึ้นก็คือ ประโยคตอนกลางย่อหน้า ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ความ

สังเกตุและพิจารณาให้ดี ส่วนจุดที่หาใจความสำคัญยากที่สุดคือย่อหน้าที่ไม่มีประโยคใจความสำคัญปรากฏ

ชัดเจน อาจมีประโยค หรืออาจอยู่รวมๆกันในย่อหน้าก็ได้ ซึ่งผู้อ่านจะต้องสรุปออกมาเอง



 

แนวการอ่านจับใจความ

             การอ่านจับใจความให้บรรลุจุดประสงค์ มีแนวทางดังนี้

             1.ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านได้ชัดเจน เช่น อ่านเพื่อหาความรู้ เพื่อความเพลิดพลิน หรือเพื่อบอก

เจตนาของผู้เขียน เพราะจะเป็นแนวทางกำหนดการอ่านได้อย่างเหมาะสม และจับใจความหรือคำตอบได้รวดเร็ว

ยิ่งขึ้น

             2.สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ คำชี้แจงการใช้หนังสือ 

ภาคผนวก ฯลฯ เพราะส่วนประกอบของหนังสือจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหรือหนังสือที่อ่านได้

กว้างขวางและรวดเร็ว

             3.ทำความเข้าใจลักษณะของหนังสือว่าประเภทใด เช่น สารคดี ตำรา บทความ ฯลฯ

ซึ่งจะช่วยให้มีแนวทางอ่านจับใจความสำคัญ ได้ง่าย

             4.ใช้ความสามารถทางภาษาในด้านการแปลความหมายของคำ ประโยค และข้อความต่างๆ

อย่างถูกต้องรวดเร็ว

             5.ใช้ประสบการณ์หรือภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านมาประกอบ

จะทำความเข้าใจและจับใจความที่อ่านได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

 

ขั้นตอนการอ่านจับใจความ

             1.อ่านผ่านๆโดยตลอด เพื่อให้รู้ว่าเรื่องที่อ่านว่าด้วยเรื่องอะไร จุดใดเป็นจุดสำคัญของเรื่อง

             2.อ่านให้ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ควรหยุดอ่านระหว่างเรื่องเพราะจะทำ

ให้ความเข้าใจไม่ติดต่อกัน

             3.อ่านซ้ำตอนที่ไม่เข้าใจ และตรวจสอบความเข้าใจบางตอนให้แน่นอนถูกต้อง

             4.เรียบเรียงใจความสำคัญของเรื่องด้วยตนเอง

การพิจารณาตำแหน่งใจความสำคัญ         
 ใจความสำคัญของข้อความในแต่ละย่อหน้าจะปรากฏดังนี้               
๑.ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นของย่อหน้า   
๒.ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนกลางของย่อหน้า                  
๓.ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนท้ายของย่อหน้า                  
๔.ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นและตอนท้ายของย่อหน้า                  
๕.ผู้อ่านสรุปขึ้นเอง จากการอ่านทั้งย่อหน้า(ในกรณีใจความสำคัญหรือความคิดสำคัญอาจอยู่รวมในความคิดย่อย ๆ โดยไม่มีความคิดที่เป็นประโยคหลัก)

ตัวอย่างตำแหน่งใจความสำคัญ


ใจความสำคัญอยู่ตอนต้นย่อหน้า


ความสมบูรณ์ของชีวิตมาจากความเข้าใจชีวิตเป็นพื้นฐาน คือ เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความเป็นมนุษย์ และความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ มีความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติอย่างจริงใจ

ใจความสำคัญอยู่ตอนท้ายย่อหน้า

ความเครียดทำให้เพิ่มฮอร์โมนอะดรีนาลีนในเลือด  ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เส้นเลือดบีบตัว กล้ามเนื้อเขม็งตึง ระบบย่อยอาหารผิดปกติเกิดอาการปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น แข้งขาอ่อนแรง  ความเครียดจึงเป็นตัวการให้แก่เร็ว

ใจความสำคัญอยู่ตอนกลางย่อหน้า

โดยทั่วไปผักที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่เกษตรกรมักใช้สารกำจัดศัตรูพืช หากไม่มีความรอบคอบในการใช้ จะทำให้เกิดสารตกค้าง ทำให้มีปัญหาต่อสุขภาพฉะนั้นเมื่อซื้อผักไปรับประทานจึงควรล้างผักด้วยน้ำหลายๆครั้ง เพราะจะช่วยกำจัดสารตกค้างไปได้บ้าง บางคนอาจแช่ผักโดยใช้น้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตก็ได้ แต่อาจทำให้วิตามินลดลง

ใจความสำคัญอยู่ทั้งตอนต้นและตอนท้ายย่อหน้า

การรักษาศีลเพื่อบังคับตนเองให้มีระเบียบวินัยในการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น เรามาอยู่วัด มานุ่งขาวห่มขาว ไม่ใช่ถือแต่ศีลแปดข้อเท่านั้น แต่เราต้องนึกว่าศีลนั้นคือความมีระเบียบ มีวินัย เราเดินอย่างมีระเบียบมีวินัย นั่งอย่างมีระเบียบ กินอย่างมีระเบียบ ทำอะไรก็ทำอย่างมีระเบียบนั่นเป็นคนที่มีศีล ถ้าเราไม่มีระเบียบก็ไม่มีศีล

ใจความสำคัญไม่ปรากฏในส่วนใด ต้องสรุปเอง

การเดิน การว่ายน้ำ การฝึกโยคะ การออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนการหายใจลึกๆ ล้วนมีส่วนทำให้สุขภาพแข็งแรง

ใจความสำคัญคือ
  การทำให้สุขภาพแข็งแรงทำได้หลายวิธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น