ประเภทของการอ่าน

ประเภทของการอ่าน


            
            การอ่านแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การอ่านในใจและการอ่านออกเสียง

การอ่านในใจ 
            การอ่านในใจ คือการแปลความหมายของตัวอักษรออกมาเป็นความคิด ความเข้าใจ และนำความคิดความเข้าใจที่ได้นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ประเภทของการอ่านดังต่อไปนี้คือ
            1. การอ่านจับใจความ
                การอ่านจับใจความเป็นพื้นฐานของการอ่านในใจที่มุ่งคุณค่าทางสติปัญญา แบ่งการอ่านชนิดนี้ออกเป็น 2 ประเภทคือ
                1.1 การอ่านจับใจความส่วนรวม เป็นการอ่านเพื่อเข้าใจเนื้อหาส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการอ่านอย่างรวดเร็ว
                วิธีการอ่าน
                    1) สังเกตส่วนประกอบของงานเขียน เช่น ชื่อเรื่อง คำนำวัตถุประสงค์ ของผู้เขียนว่าเป็นงานเกี่ยวกับอะไร และเขียนเพื่ออะไร
                    2) วิเคราะห์จุดมุ่งหมายงานเขียนว่าเขียนด้วยวัตถุประสงค์ใด
                    3) จัดลำดับเนื้อหาใหม่ตามความสำคัญ
                    4) ใช้การตั้งคำถามกว้าง ๆ ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และทำไม เพื่อหาความสัมพันธ์ในการดำเนินเรื่อง

                ตัวอย่างการอ่านจับใจความส่วนรวม
                        ลมร้อนผ่าวพัดผ่านไปเหนือลานหินทรายอันร้อนระอุที่ยามนี้ข่อยดานกอใหญ่ยังไม่วายเหี่ยวเฉา ทั้งใบ เพื่อจะเก็บกักน้ำ ไม่ให้คายออกมามากจนเกินกว่าจะรักษาชีวิตของมันให้ผ่านพ้นกาลเวลาแห่งความแห้งแล้ง เพื่อพบกับหยาดฝนแรกแห่งปีที่กำลังจะมาถึง
                        ทว่ากุหลาบแดงกอใหญ่กลับไม่สนใจกับลมร้อนดังว่า มันกลับเริงร่าท้าทายด้วยการผลิดอกสีแดงสด ประชดไอร้อนให้อายในความงาม ที่หากใครสักคนผ่านมาพบ ก็คงต้องสยบอยู่กับความงดงามอันราวกับราชินีแห่งฤดูร้อนเบื้องหน้านั้น
                        ห่างออกไป กุหลาบขาวดงใหญ่ก็กำลังเต่งตูม รอวันเวลาอีกไม่นานที่จะผลิดอกสีขาวบริสุทธิ์ให้โลกได้รับรู้ถึงความงามที่ไม่เป็นรองดอกไม้ชนิดใดบนลานหินทรายแห่งนี้ ซึ่งก็เป็นวัฏจักรของธรรมชาติที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปด้วยสีสันของมวลดอกไม้หลายหลาก ผลิดอกออกช่อเบ่งบานไปในฤดูกาลแห่งปี และไม่ว่าฤดูกาลใด เพลงดอกไม้บนลานหินทรายก็ยังขับขานผสมผสานกับวันเวลาของธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน
                        ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ในวันที่ธรรมชาติย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ไม้ใหญ่น้อยในปุาเริ่มปลิดปลิวทิ้งใบร่วงหล่นลงสู่ผืนดินตามกลไกของธรรมชาติที่สอนให้มันรู้ว่า นี่คือหนทางที่จะยืนหยัดต่อสู้กับฤดูกาลอันแห้งแล้งและยาวนานนี้ได้ตามหนทางเดินในปุาจึงเกลื่อนกล่นไปด้วยใบไม้สีน้ำตาล ยามเดินผ่านก็จะมีเสียงกรอบแกรบดังขึ้นมาแทบทุกย่างก้าว มันเป็นรหัสของปุาอีกอย่างหนึ่งที่กำลังเดินไปในกฎเกณฑ์ ของธรรมชาติอย่างที่ไม่มีใครหยุดยั้ง ราวไผ่ข้างทางยามนี้กลับพบว่ามีความงามยิ่งนัก ด้วยใบสีทองเหลืองอร่ามเปล่งปลั่งไปทั่วทั้งปุา พาให้อารมณ์เพริดไปในความสุนทรีย์ของธรรมชาติรอบข้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ เหนือความสูงจากระดับน้ำทะเลขึ้นไปกว่า 1,300 เมตร บนลานหินทรายอันกว้างใหญ่ของภูกระดึง คือ เปูาหมายของการเดินทางในวันฤดูร้อนนี้ด้วยความเหนื่อยอ่อนที่ต้องพาสังขารอันอ่อนล้าขึ้นไปสู่เบื้องบน ใครเลยจะล่วงรู้ว่า ในวันเวลาอันแห้งแล้งเช่นนี้ กลับเป็นเวลาที่งดงามเป็นที่สุดอีกวันหนึ่งของภูกระดึงในรอบปีด้วยต้นฤดูร้อนราวเดือนกุมภาพันธ์นี้ คือวันเวลาที่กุหลาบแดงกำลังบานสะพรั่งไปทั้งภู โดยเฉพาะตามธารน้ำเหนือน้ำตกหลายแห่งซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยกุหลาบแดงเป็นที่สุด
                        ปีนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกปีที่ผ่านมาที่ธรรมชาติยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างดีและตรงเวลาเป็นที่สุด เหนือธารน้ำตกธารสวรรค์ ซึ่งยามนี้มีเพียงสายน้ำปริ่มๆ ไหลรินจึงเต็มไปด้วยดอกสีแดงสดของกุหลาบแดงเป็นพุ่ม แต่งแต้มในธารน้ำตกแห่งนี้สวยงามไปอีกแบบหนึ่ง ต่างกับในฤดูฝนที่สายน้ำไหลหลากหากแต่ไม่มีสีสันแต่งแต้มดังเช่นฤดูร้อนธรรมชาติไม่เคยให้อะไรที่เกินกว่าคำว่าสมดุล เว้นแต่กลไกแห่งธรรมชาตินั้นจะถูกทำลายลงด้วยหนทางใดหนทางหนึ่ง ซึ่งมนุษย์มักจะเข้าไป เกี่ยวข้องด้วยแทบทุกครั้ง
    (บทคัดย่อเรื่อง “เพลงดอกไม้ บนลานหินทราย” ของ สุรจิต จามรมาน
จาก อนุสาร อ.ส.ท. พฤษภาคม 2536)

                แนวการจับใจความส่วนรวม
                    1) ชื่อเรื่อง “เพลงดอกไม้ บนลานหินทราย” ผู้อ่านสามารถจับประเด็นของเรื่องได้ไม่ยาก ชื่อเรื่องมีความแปลกใหม่ชวนให้ฉงนและครอบคลุมใจความของเนื้อเรื่องไว้ทั้งหมด
                    2) ผู้เขียนดำเนินเรื่องด้วยการบรรยายถึงประสบการณ์ของตนใจความแต่ละย่อหน้ามีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ใช้สำนวนเปรียบเทียบที่คมคาย แทรกด้วยการพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพและเกิดความประทับใจ ผู้เขียนสรุปเป็นข้อคิดเกี่ยวกับธรรมชาติว่า มีความสมดุลในตัวของมันเองเสมอ หากธรรมชาติ ถูกทำลายลงก็เป็นด้วยน้ำมือของมนุษย์เท่านั้น
                    3) การใช้ภาษา ผู้เขียนเลือกสรรถ้อยคำมาใช้อย่างประณีต ทำให้เกิดความไพเราะด้วยเสียงสัมผัส ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร เช่น “จนเกินกว่าจะรักษาชีวิตของมันให้ผ่านพ้นกาลเวลาแห่งความแห้งแล้ง” มีการใช้โวหาร โดยสมมุติให้ดอกไม้มีกิริยาอาการและความรู้สึกเหมือนมนุษย์ เช่น “มันกลับเริงร่าท้าทายด้วยการผลิดอกสีแดงสดประชดไอร้อนให้อายในความงาม” ผู้เขียนใช้ถ้อยคำทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพและได้ยินเสียง เช่น “ไม้ใหญ่น้อยในปุาเริ่มปลิดปลิวทิ้งใบร่วงหล่นลงสู่ผืนดินตามกลไกของธรรมชาติ” นอกจากนั้น ยังใช้ถ้อยคำเลียนเสียงธรรมชาติ “...หนทางเดินในปุาจึงเกลื่อนกล่นไปด้วยใบไม้สีน้ำตาล ยามเดินผ่านก็จะมีเสียงกรอบแกรบดังขึ้น...”

                1.2 การอ่านจับใจความสำคัญ ใจความสำคัญคือใจความหลักของเรื่องเป็นการอ่านที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อจับใจความสำคัญของงานเขียนแต่ละย่อหน้า
                วิธีการอ่านจับใจความสำคัญ
                    - อ่านวิเคราะห์คำหรือประโยค โดยการตีความหมายของศัพท์ยากในข้อเขียน
                    - วิเคราะห์จุดมุ่งหมายงานเขียนว่าเขียนด้วยวัตถุประสงค์ใด
                    - วิเคราะห์น้ำเสียงว่าเป็นไปในทำนองใด ประชดประชัน ล้อเลียน ฯลฯ
                    - วิจารณ์เนื้อหาสาระของงานเขียน
                ใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้ามีลักษณะดังนี้
                    1) ใจความสำคัญอยู่ต้นย่อหน้า
                        “ การศึกษาคัมภีร์ฤคเวท ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจประเทศอินเดีย จากอดีตถึงปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง เพราะอารยธรรมอินเดียมีความเป็นหนึ่งเดียวสืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบันด้วย พาหนะที่สำคัญคือคัมภีร์ฤคเวท ความเป็นไปในปัจจุบันของศาสนา ปรัชญา ศีลธรรม วรรณคดี ตลอดจนพฤติกรรมทางสังคมในอินเดียล้วนมีพื้นฐานมาจากคัมภีร์ฤคเวททั้งสิ้น ความรู้สึกนึกคิดของคนอินเดียปัจจุบันโดยทั่วไปก็เหมือนกับที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทเป็น ส่วนใหญ่ อิทธิพลของคัมภีร์ฤคเวทต่อพฤติกรรมในชีวิตของชาวอินเดียได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทุกที่ตลอดเวลา”
                        ตัวที่พิมพ์สีแดง เป็นใจความสำคัญของย่อหน้านี้

                    2) ใจความสำคัญอยู่กลางย่อหน้า
                        “การเลียนแบบเนื้อหาโครงสร้างและโวหารกวีอยุธยาที่ปรากฏในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้ แสดงว่า กวีรัตนโกสินทร์ไม่นิยมแต่งเรื่องนอกขนบนิยม แต่งอะไรก็เลียนแบบ กวีเก่าแม้แต่ลักษณะคำประพันธ์ก็มีการพยายามเลียนแบบของเก่า เช่น พระยาตรังแต่งโคลงกวีโบราณโดยยกตัวอย่างโคลงโบราณแล้วก็แต่งตามแบบนั้นๆ”
                        ตัวที่พิมพ์สีแดง เป็นใจความสำคัญของย่อหน้านี้

                    3) ใจความสำคัญอยู่ท้ายย่อหน้า
                        “ วรรณกรรมของศาสนาฮินดู ประกอบไปด้วยรสทุกรสคลุกเคล้าประสมประสาน ปะปนกัน ถ้าจะเปรียบวรรณกรรมของฮินดู เปรียบได้เสมือนปุาใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด เป็นไม้เล็กบ้างใหญ่บ้างไม้ชนิดดีมีค่าก็มี ไม้ไร้ค่าก็มี ไม้แก่นไม้กระพี้ ไม้มีพิษและไม้ที่ใช้เป็นสมุนไพรก็มีไม้เหล่านี้ขึ้นปะปนกันไปฉะนั้นบุคคลที่เป็นสามัญชนย่อมพิจารณาได้โดยยากนอกจากนักพฤกษศาสตร์เท่านั้นที่จะสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นไม้ชนิดใด ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมฮินดูจึงมีทั้งดีที่สุดและเลวร้ายที่สุด แล้วแต่ผู้ใดจะใช้วิจารณญาณเลือกสรรนามาใช้”
                        ตัวที่พิมพ์สีแดง เป็นใจความสำคัญของย่อหน้านี้

                    4) ใจความสำคัญอยู่ตอนต้นและตอนท้ายย่อหน้า เช่น
                        “ บรรณานุกรมวรรณคดีเปรียบเทียบเป็นสื่อที่สำคัญมาก มีหน้าที่รวมข่าวสารและเผยแพร่ไปยังนักวรรณคดีทุกชาติ เป็นเครื่องมือชิ้นที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ศึกษาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ถึงแม้ว่าวิชานี้จะไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว แต่ก็ยังพอมีแนวทางที่เดินร่วมกันได้ บรรณานุกรมเหล่านี้ได้แยกทางเส้นที่สาคัญๆไว้ให้เห็นอย่างเด่นชัด รวมทั้งแนวทางย่อยๆ ที่ต่าง ความคิดเห็นกัน ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการศึกษาและการตรวจสอบทั้งนั้น”
                        ตัวที่พิมพ์สีแดง เป็นใจความสำคัญของย่อหน้านี้

               การอ่านจับใจความสำคัญนี้ ต้องสังเกตประโยคใจความหลักและใช้การขีดเส้น บันทึกเรื่องราวย่อๆ ด้วยสำนวนภาษาของเราเอง

            2. การอ่านตีความ คือ การอ่านที่ผู้อ่านจะต้องใช้สติปัญญาตีความหมายของคำและข้อความทั้งหมด โดยพิจารณาถึงความหมายโดยนัย หรือความหมายแฝงที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อความหมาย ซึ่งทั้งนี้ผู้อ่านจะสามารถตีความหมายของคำสำนวนได้ถูกต้องหรือไม่นั้นจำเป็นต้องอาศัยเนื้อความแวดล้อมของข้อความนั้นๆบางครั้งต้องอาศัยความรู้หรือประสบการณ์ปัจจุบันเป็นเครื่องช่วยตัดสินการอ่านตีความมีหลักเกณฑ์ในการอ่านดังนี้
การอ่านตีความอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้อ่านต้องพิจารณาความหมายโดยอาศัยบริบท น้ำเสียงของผู้เขียน เจตคติ ภูมิหลังของเหตุการณ์ประกอบด้วย
                ข้อปฏิบัติในการอ่านตีความ
                - อ่านเรื่องให้ละเอียดโดยพยายามจับประเด็นสำคัญของเรื่องให้ได้
                - หาเหตุผลอย่างรอบคอบเพื่อพิจารณาว่ามีความหมายถึงสิ่งใด
                - ทำความเข้าใจกับถ้อยคำที่ได้จากการตีความ
                - เรียบเรียงถ้อยคำให้มีความหมายชัดเจนและมีเหตุมีผลเป็นหลักสำคัญ
                ตัวอย่างการอ่านตีความ
                    “เห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง” ตีความได้ว่า จะทำอะไรควรดูฐานะของตน ไม่ควรเอาอย่างคนที่มีฐานะดีกว่าเรา
                    “พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า กลิ่นหอมของดอกไม้ ทวนลมขึ้นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นมะลิวัลย์ แต่กลิ่นของคุณงามความดีของคนย่อมหอมหวนทวนลมขึ้นไปได้ และย่อมหอมฟุูงไปทั่วทุกทิศ”
                    ตีความได้ว่า คุณงามความดีของคน หอมยิ่งกว่ากลิ่นดอกไม้และกลิ่นหอมใดๆ

            3. การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ การอ่านชนิดนี้เป็นการอ่านที่ค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้การหาเหตุผลมาใช้ในการวิจารณ์
                ข้อควรปฏิบัติในการอ่านอย่างใช้วิจารณญาณ
                    3.1 พิจารณาความหมายของข้อความที่อ่าน
                    3.2 พิจารณาความต่อเนื่องของประโยคว่ามีเหตุผลสอดรับกันหรือไม่
                    3.3 พิจารณาความต่อเนื่องของใจความหลักและใจความรอง
                    3.4 แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็นและความรู้สึก
                    3.5 พิจารณาว่ามีความรู้เนื้อหา หรือมีความคิดแปลกใหม่น่าสนใจหรือไม่
                ตัวอย่างการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
                    ถึงแม้ว่าคนโบราณจะสอนกันมาว่า “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย”ดังนี้ก็ตาม แต่ลูกควรระวังคำพูดของคนอื่นโดยเฉพาะคำพูดหวานๆของคนไว้บ้างก็ดี น้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่มีรสหวานทิ้งไว้นานเข้าก็กลายเป็นน้ำเมาได้ น้ำคำหวานๆของคนบางคนก็ทำให้เราเมาได้เหมือนกัน พอเมาแล้วก็ทำให้หลง ลืมตัว ลืมใจ เสียรู้ เสียท่าบางครั้งถึงกับเสียเงินเสียทองให้เขาอย่างที่ไม่น่าจะเสีย เพราะไปเชื่อคำหวานของเขา ข้อนี้ขอให้ลูกพิจารณาให้ดี ใครมาพูดจาหวานๆยกยอเราว่าดีอย่างนั้น เก่งอย่างนี้ ลูกต้องระวังไว้ก่อนทีเดียว อย่าเพิ่งไปหลงใหลได้ปลื้มกับคำพูดของเขาในทันที ลูกจะได้ไม่เสียใจภายหลัง ปลาที่ตายไปส่วนหนึ่งเพราะถูกเขา “ยกยอ” ขึ้นมา ถ้ามันไม่ติด “ยอ”มันก็จะไม่ตาย เรื่องมันเป็นอย่างนี้จึงควรระวังจะถูก “ยกยอ” แล้วตายไปเหมือนปลา
                    ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณว่าคำที่สอนมานี้เป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น น้ำอ้อยที่ทิ้งไว้นานจะกลายเป็นน้ำเมา วิจารณญาณที่จะใช้พิจารณาคือน้ำอ้อยและน้ำเมานั้นอะไรดี อะไรมีโทษ เมา คือความลุ่มหลง หลงเชื่อในคำยอ เปรียบเหมือนปลาที่ติดยอจนตาย คนก็เช่นกันถ้าหลงในคำหวานที่มีโทษก็จะตายไปเหมือนปลา เมื่อได้ประสบเหตุการณ์เหล่านี้ผู้ที่ได้รับรู้คำสอนนี้จะได้ใช้วิจารณญาณของตนพิจารณาได้ว่า อะไรคืออะไร เพราะการฟังและเชื่อโดยไม่พิจารณาให้ถ้วนถี่มีโทษมากมาย

            4. การอ่านวิเคราะห์ การอ่านชนิดนี้เป็นการอ่านเพื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เป็นการแยกแยะทำความเข้าใจองค์ประกอบหรือโครงสร้างของหนังสือแต่ละประเภท
                ข้อควรปฏิบัติในการอ่านวิเคราะห์
                    4.1 ศึกษารูปแบบของงานประพันธ์ว่าเป็นรูปแบบใด
                    4.2 แยกเนื้อเรื่องออกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร
                    4.3 แยกพิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
                    4.4 พิจารณากลวิธีในการนำเสนอ
                การวิเคราะห์การอ่านจะต้องคำนึงถึงรูปแบบ กลวิธีในการประพันธ์ เนื้อหาหรือเนื้อเรื่องและสำนวนภาษา การอ่านวิเคราะห์ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
                    - ดูรูปแบบงานประพันธ์ว่าใช้รูปแบบใด อาจเป็นนิทาน บทละคร นวนิยาย เรื่องสั้น บทความ บทละคร ฯลฯ
                    - แยกเนื้อเรื่องเป็นส่วนๆให้เห็นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร
                    - พิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
                    - พิจารณาให้เห็นว่าผู้เขียนใช้กลวิธีเสนอเรื่องอย่างไร

            5. การอ่านเพื่อประเมินคุณค่า การอ่านวิธีนี้ หมายถึงการที่ผู้อ่านใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว ในการประเมินค่างานเขียนซึ่งอาจจะมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวเข้าร่วมด้วย การประเมินคุณค่าที่ดีต้องปราศจากอารมณ์และในการประเมินคุณค่านั้นต้องประเมินตามลักษณะของหนังสือด้วย เช่น ถ้าเป็นตำรา เอกสารทางวิชาการต้องประเมินในเรื่องความรู้ การใช้ภาษา ฯลฯ ถ้าเป็นหนังสือสารคดีหรือบทความ ควรประเมินความคิดเห็นของผู้เขียน หรือหนังสือพิมพ์ต้องประเมินจากความน่าเชื่อถือของข่าว และอคติของผู้เขียน การอ่านประเมินค่า มีวิธีการอ่านดังนี้
                5.1 พิจารณาความถูกต้องของภาษาจากเรื่องที่อ่าน ภาษาที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปจากความหมายที่แท้จริง ความถูกต้องของภาษามีหลายลักษณะ เช่น การใช้คำผิดความหมาย การเรียงคำในประโยคผิด การไม่รู้จักเว้นวรรคตอน เป็นต้น นับเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการสื่อความหมาย
                5.2 พิจารณาความต่อเนื่องของประโยค ว่าเป็นข้อความที่ไปกันได้ ไม่ขัดแย้งกัน หรือข้อความที่ให้ความก้าวหน้าแก่กัน หากข้อความใดมีเนื้อหาสับสนวุ่นวาย ไม่เข้ากับหลักสามข้อนี้ให้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรอ่าน
                5.3 พิจารณาความต่อเนื่องของความหมาย ความหมายที่ต่อเนื่องต้องมีแกนหลักในการเชื่อมโยงความหมาย เช่น การเขียนชีวประวัติ อาจใช้ช่วงเวลาของชีวิตเป็นแกนหลัก เป็นต้น
                5.4 เมื่ออ่านแล้วต้องแยกข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น และความรู้สึก จากเรื่องที่อ่านดังตัวอย่าง เช่น
                    “ประเทศหนึ่งๆต่างมีระบอบการปกครองแตกต่างกันออกไป ประเทศรัสเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยม ไม่มีศาสนา ไม่มีพระมหากษัตริย์ ถ้าข้าพเจ้าต้องมีชีวิตอยู่ที่นั่นคงจะอึดอัดใจมิใช่น้อย เพราะข้าพเจ้าถือว่า ทั้งสองสถาบันนี้คือ ศูนย์รวมจิตใจของทุกคน”
                    ข้อเท็จจริง - ประเทศหนึ่งๆต่างมีระบอบการปกครองของตนเองไม่เหมือนประเทศอื่น ประเทศรัสเซียมีการปกครองตามระบอบสังคมนิยม ไม่มีศาสนา ไม่มีพระมหากษัตริย์
                    ความรู้สึก – ถ้าข้าพเจ้าต้องมีชีวิตอยู่ที่นั่นคงจะอึดอัดใจมิใช่น้อย
                5.5 พิจารณาดูความสัมพันธ์ของหลักการและตัวอย่าง ว่ามีความจริงเพียงไร สมเหตุผลหรือไม่ ก่อนที่จะเชื่อในเรื่องที่อ่านนั้น
                5.6 ประเมินข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และความรู้สึก วิเคราะห์ความเป็นไปในความคิดของผู้เขียน กับความคิดเห็นส่วนตัวของเรา ผลลัพธ์แห่งการประเมินนั้นจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ให้กับเราหรือไม่

            การอ่านทั้ง 5 ประเภทที่กล่าวมาเป็นการอ่านในใจซึ่งมีหลักฝึกฝนการอ่านในใจดังต่อไปนี้
                1) กำหนดเวลาในการอ่านหนังสือไว้แน่นอน เช่น กำหนดไว้ว่าจะอ่าน 5 นาที เมื่อครบกำหนดเวลา ลองตรวจสอบดูว่าอ่านได้กี่หน้า แล้วทดลองจับเวลาในการอ่านครั้งต่อไป แล้วตรวจสอบดูว่าจำนวนหน้าที่อ่านได้เพิ่มจำนวนขึ้นหรือไม่
                2) ฝึกการเคลื่อนไหวของสายตา ซึ่งลักษณะการเคลื่อนไหวของสายตาและการฝึกใช้สายตาให้อ่านได้รวดเร็วมีดังนี้
                3) การจับตา หมายถึงการที่สายตาจับอยู่ที่ข้อความเป็นจุด ๆ ผู้ที่อ่านชำนาญใน 1 บรรทัดจะจับตาน้อยครั้งและใช้เวลาน้อย
                4) ช่วงสายตา หมายถึงระยะห่างจากจุดที่จับตาจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง คนที่อ่านไม่ชำนาญช่วงสายตาจะแคบจะจับตาแทบทุกตัวอักษร
                5) การย้อนกลับ การกวาดสายตาย้อนกลับข้อความที่อ่านผ่านไปแล้วนั้น คนที่อ่านไม่ชำนาญจะย้อนสายตากลับไปอ่านข้อความเดิม เพราะไม่มั่นใจว่าอ่านถูกหรือไม่ ทำให้เสียเวลา นักอ่านที่ดีต้องกวาดตาย้อนกลับในแต่ละบรรทัดน้อยครั้งที่สุด หรือแทบไม่มีเลย
                6) การเปลี่ยนบรรทัด ผู้ที่อ่านอย่างชำนาญเมื่อเปลี่ยนบรรทัด ย่อมเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำโดยไม่ต้องอาศัยการชี้ด้วยนิ้ว หรือการใช้ไม้บรรทัดวางคั่นเพื่อกันหลงบรรทัด
                7) ทดสอบความเข้าใจเมื่ออ่านจบโดยอาจทดสอบเป็นระยะๆ หรือทดสอบเมื่ออ่านจบเรื่องแล้วก็ได้
                8) ศึกษาเรื่องความหมายของคำศัพท์อยู่เสมอ โดยอาศัยการค้นคว้า จดบันทึก จะช่วยให้มีความรู้เรื่องวงศัพท์กว้างขวางและเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น
                9) หลีกเลี่ยงนิสัยการอ่านที่ไม่ดี ทั้งการทำปากขมุบขมิบ การใช้มือชี้ หรือการย้อนกลับไปอ่านอย่างซ้ำ ๆ
                10) ฝึกฝนการอ่านอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้การอ่านเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำยิ่งขึ้น



การอ่านออกเสียง
            การอ่านออกเสียง หมายถึงการอ่านข้อความโดยการเปล่งเสียงออกมาเพื่อให้ผู้อื่นได้รับรู้ข้อความนั้น ๆ ด้วยการอ่านออกเสียงแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ
            1. การอ่านออกเสียงปกติ เป็นการอ่านออกเสียงตามปกติทั่วไป อ่านได้ทั้งบทร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น อ่านข่าว อ่านประกาศ อ่านตีบท อ่านสารคดี อ่านข้อความประกอบภาพนิ่ง หรืออ่านบทภาพยนตร์ ฯลฯ
                ข้อควรปฏิบัติในการอ่านออกเสียงตามปกติ
                    - ทำความเข้าใจกับเรื่องที่จะอ่านก่อนการอ่านจริง
                    - ออกเสียงชัดเจน ดังพอประมาณ มีลีลาจังหวะในการอ่านอย่างเหมาะสม
                    - แบ่งวรรคตอนได้ถูกต้อง
                    - อ่านออกเสียงถูกต้องตามอักขรวิธี
            2. อ่านทำนองเสนาะ การอ่านทำนองเสนาะเป็นการอ่านออกเสียงบทร้อยกรองหรือวรรณคดีไทยให้ไพเราะน่าฟัง มุ่งให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง เกิดอารมณ์ จินตนาการ คล้อยตามบทร้อยกรองนั้น ๆ ด้วย
                หลักเกณฑ์ในการอ่านทำนองเสนาะ
                    - ต้องรู้จักลักษณะคำประพันธ์ที่จะอ่านก่อนว่าบังคับฉันทลักษณ์อย่างไร
                    - อ่านให้ถูกทำนอง
                    - ควรมีน้ำเสียงและลีลาในการอ่านที่ดี
                    - ออกเสียงแต่ละคำถูกต้องชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น