การอ่านวินิจสาร

การอ่านวินิจสาร


ความหมาย         หมายถึง  เป็นกระบวนการทางจิตสำนึกเพื่อวิเคราะห์ หรือ ประเมินข้อมูล ในคำแถลง หรือ ข้อเสนอที่มีผู้แถลงหรืออ้างว่าเป็นความจริง  การคิดวิเคราะห์เป็นรูปแบบของกระบวนการที่สะท้อนให้เห็นความหมายของคำแถลง ( statement ) และ การตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับการไตร่ตรองด้วยเหตุและผล  แล้วจึงทำการตัดสินคำแถลง หรือ ข้อเสนอที่ถูกอ้างว่าเป็นความจริงนั้น
ความสำคัญ    ช่วยให้ผู้อ่าน เข้าใจเรื่องที่อ่านได้หลายด้านหลายมุม  ทำให้เห็นคุณค่า และได้รับประโยชน์จากสิ่งที่อ่าน  ช่วยฝึกการคิดไตร่ตรองหาเหตุผล  ทำให้มีวิจารณญาณในการอ่าน
ขั้นตอนการวิเคราะห์และวินิจสาร๑. การวิเคราะห์สาร ๑ ) พิจารณารูปแบบของงานเขียน  เพื่อให้รู้ว่าสารนั้นเป็นงานเขียนประเภทใด  เช่น บทความ ข่าว โฆษณา
๒ ) แยกพิจารณาเนื้อเรื่องออกเป็นส่วน ๆ สรุปความให้ได้ว่าใคร ทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร
๓ ) แยกพิจารณาโครงสร้างว่า  ประกอบด้วย เนื้อเรื่องเขียนเกี่ยวกับอะไร และ สรุปด้วยอะไร
๔) พิจารณาว่าผู้เขียนใช้กลวิธีการนำเสนออย่างไร และ พิจารณาการใช้ภาษาด้วยว่ามีการใช้ภาษาอย่างไร
๒. การวินิจสาร๑ ) พิจารณาเนื้อเรื่องว่า  ส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง  ส่วนใดเป็นข้อคิดเห็น และ ข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็นนั้นคืออะไร
๒ ) พิจารณาว่า  ใจความสำคัญของเรื่องคืออะไร และใจความสำคัญรอง ๆ ลงไปคืออะไร
๓ ) พิจารณาว่าผู้เขียน เขียนด้วยเจตนาอย่างไร มีอารมณ์และรู้สึกอย่างไร  ต้องการให้เกิดการตอบสนองอย่างไร หรือ  เนื้อเรื่องมีข้อดีเด่นอย่างไร
ตัวอย่างการวิเคราะห์วินิจสาร ( ๑ )
ศิลปะการใช้ชีวิต
                สมัยเมื่อข้าพเจ้าสมัครเป็นผู้แทนราษฎร ออกเที่ยวหาเสียงในพระนครได้เข้าไปหาเสียงในบ้านคนจนแห่งหนึ่ง อยู่ที่แหล่งเสื่อมโทรมหลังวัดอินทร์ บางขุนพรม ซึ่งแหล่งเสื่อมโทรมนี้ เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย มีชีวิตอยู่เหนือน้ำครำกรุงเทพฯ เพียงฟุตกว่า ๆ เท่านั้น นาน ๆ จะมีหมาวัดพลัดเข้ามาอยู่ด้วยที่ใต้ถุนบ้าน เมื่อข้าพเจ้าไปถึงครอบครัวนี้กำลังจะเริ่มลงมือรับประทานอาหารเย็น พ่อบ้านกลับจากงานมีพวงปลาทูตัวเล็ก ๆ ถือติดมือมา ๔- ๕ ตัว แต่เขาถือมันมาด้วยความภูมิใจเหมือนบ๋อยกำลังยกหมูหันมาเลี้ยงคนในเหลา ปลาทู ๔-๕ ตัวนั้น มันเล็กเสียจริง ๆ ดูเหมือนปลาทูอดอาหาร ซึ่งถ้าข้าพเจ้าเป็นแมวก็แทบจะไม่อยากขอรับประทาน ครอบครัวนั้นมีลูกหลายคน ยังเล็ก ๆ ทั้งนั้น นึกอยู่ในใจว่าจะพอกินได้อย่างไร ปลาทู ๔-๕ ตัวนี้ แต่ถึงกระนั้นแม่บ้านก็รับของขวัญจากตลาดด้วยกิริยาอาการยินดีเหมือนนางสาวไทยรับมงกุฎแล้วเธอได้นำปลาทูไปล้างอย่างสะอาด ระหว่างนั้นลูกหญิงคนโตนำหม้อข้าวไปตั้งไฟ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงบ้านเขา พ่อบ้านซึ่งรู้จักว่าข้าพเจ้าเป็นใคร ได้ให้การต้อนรับอย่างมีเกียรติยิ่งเขาเอาผ้ามาเช็ดถูกระดานก่อนเชิญข้าพเจ้านั่ง ทั้ง ๆ ที่กระดานตรงนั้นและกระดานที่อื่นในบ้านก็สะอาดหมดจดอยู่แล้ว
เมื่อข้าพเจ้านั่งลงตามคำเชิญแล้ว พ่อบ้านลุกขึ้นไปหยิบถ้วยแก้วน้ำ ซึ่งเก็บใส่ไว้ในตู้กระจกไม่มีฝุ่นจับ แล้วยังเอาผ้าสะอาดมาเช็ดก่อนที่จะตักน้ำจากตุ่มน้ำฝนมาให้ข้าพเจ้ารับประทาน เขานำถ้วยแก้วใส่น้ำล้ำค่าจากสรวงสวรรค์นั้นมาวางต่อหน้าข้าพเจ้า เหมือนกับจะวางแก้วเหล้าชาโตมาโก ปี ค.ศ. ๑๙๒๘ ให้แขกสำคัญดื่ม ในบ้านเหนือน้ำครำ ๑ ฟุตเศษนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างสะอาดไปหมด คนในบ้านก็สะอาดทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่  ก่อนนั่งลงรับประทานข้าวกับปลาทู แม่ยังบังคับให้ลูก ๆ ไปล้างมือเสียก่อน มองลงไปดูข้างล่างที่น้ำครำทำให้รู้สึกว่าชีวิตในบ้านน้อย ๆ นั้นเหมือนกับดอกบัวบานแล้วพ้นจากตม ระหว่างนั้นปลาทูซึ่งกำลังทอดอยู่ในกระทะก็เริ่มส่งกลิ่นท้าทายความหิว ลูกที่โตแล้วเข้าห้องไปเอาเสื่อจันทบูรณ์ออกมาลาด แล้วนำส้อมกับช้อนสังกะสีมาวางไว้รอบเสื่อ ครบจำนวนสมาชิกในครอบครัว ทำท่าทางไม่ผิดกับการเตรียมตั้งโต๊ะอาหารรับเจ้าฝรั่ง
วันนั้นข้าพเจ้าไปเดินหาเสียงมาทั้งวัน ยังไม่ได้รับประทานอาหารเย็นเลย เมื่อปลาทูในกระทะกำลังส่งกลิ่น แล้วไปเห็นชีวิตในครอบครัวเหนือน้ำครำอันหมดจดสะอาดสะอ้านเช่นนั้นเข้า จึงทำให้เกิดหิวข้าว ไม่เคยเลยตั้งแต่เกิดมาในชีวิตที่ข้าพเจ้าจะรู้สึกหิวข้าวอยากกินอะไรเท่ากับข้าวร้อน ๆ กับปลาทูทอด ครั้นข้าวสุกปลาทูทอดเสร็จ ยกมาตั้งกลางวง แล้วพ่อบ้านก็ถามข้าพเจ้าด้วยความเกรงใจว่า ค่ำแล้ว ท่านจะรับประทานเสียที่นี่ดีหรือไม่ แล้วออกตัวในเวลาเดียวกันว่า อาหารที่บ้านนี้รับประทานกันง่าย ๆ อย่างนี้ ในท่ามกลางความสุขของครอบครัว ความสะอาดสะอ้าน และกลิ่นข้าวร้อนผสมกับปลาทูทอด ความหิวเกือบจะทำให้ข้าพเจ้ารับเชิญ แต่ครั้นมองไปดูปลาทู ๔-๕ ตัว กับเด็ก ๆ ในบ้านมีจำนวนมากกว่าเข้าแล้ว จึงได้แต่ตอบขอบใจเจ้าบ้านว่า ข้าพเจ้ารับประทานมาแล้ว ขอให้เขาลงมือกันไปเถิดข้าพเจ้าจะนั่งคุยด้วย จึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่โต๊ะอาหารของเขาอย่างน่าประหลาด
ปลาทูเล็ก ๆ ๔ – ๕ ตัวนั้น แม่บ้านแบ่งแจกจ่ายใส่จานลูกได้ทั่วคน ปลาที่แม่แบ่งให้ลูกกินคือส่วนที่เป็นเนื้อปลา พ่อแม่รับประทานแต่หัวปลากับเศษของปลา เด็กทุกคนรับประทานอาหารอย่างโอชะ นั่งพับเพียบรับประทานด้วยกิริยาอันแช่มช้อย เมื่อแบ่งกับข้าวกันกินดังกล่าวนี้แล้ว ส่วนที่เหลือยังติดชามกับข้าว แม้แมวตัวไหนอยากกินก็ไม่มีเหลือจะให้กิน ทุกคนในครอบครัวนั้นกินจนอิ่ม เพราะข้าวมีไม่จำกัด ข้าพเจ้ากินข้าวดี ๆ มาทั่วโลก ไม่เคยเห็นใครกินข้าวเอร็ดอร่อยเท่าครอบครัวเหนือน้ำครำนี้ กินอิ่มแล้วน้องเล็กยังได้เรอออกมาด้วยความพอใจ ถูกแม่ดุเอาว่า ทำอย่างนั้นไม่เป็นสมบัติผู้ดี ข้าพเจ้าจากครอบครัวนี้มาโดยอาการท้องหิวใจอิ่ม ได้ความคิดมาด้วยว่า กรุงศรีอยุธยาหาได้อยู่เพราะคนดีไม่ แต่อยู่มาได้เพราะอาศัยข้าวกับปลาทู แต่บทเรียนก็ได้รับมาในเวลาเดียวกันว่า ที่บ้านเล็ก ๆ เหนือน้ำครำนี้ เขาใช้ศิลปะในการดำรงชีวิตอย่างถึงขนาดประเสริฐยิ่ง
รูปแบบ       เรื่องศิลปะการใช้ชีวิตเป็นร้อยแก้ว มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช สมัยเมื่อออกหาเสียงเลือกตั้ง
เนื้อเรื่อง     กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ออกไปหาเสียงเลือกตั้งในหมู่บ้านคนจนแห่งหนึ่ง ได้พบกับครอบครัวหนึ่งซึ่งกำลังลง
มือรับประทานอาหารเย็น ผู้เขียนเกิดความรู้สึกประทับใจในการรู้จักใช้
ชีวิต เช่น รักความสะอาด รู้จักต้อนรับแขกตามสภาพ โดยเฉพาะอาหาร
มื้อนั้นเป็นปลาทูตัวเล็ก ๔ – ๕ ตัว แต่ทุกคนก็รับประทานด้วยความเอร็ดอร่อยและเป็นระเบียบจนอิ่มโดยทั่วถ้วน ทำให้ผู้เขียนอดชื่นชมในความเป็นอยู่ของครอบครัวเล็ก ๆ นี้ไม่ได้ จึงเขียนเล่าเรื่องขึ้น
การนำเสนอ  ใช้กลวิธีเล่าเรื่องอย่างง่าย ๆ ตรงไปตรงมา คล้าย ๆ กำลังพูดคุยให้ผู้อ่านฟัง โดยเล่าเรื่องเป็นลำดับ ๆ ไป และแทรกความรู้สึกชื่นชมในน้ำเสียงของผู้เขียนในตอนท้าย
การใช้ภาษา  ใช้ภาษาพูดเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ให้ภาพพจน์ และความรู้สึกได้ชัดเจน เช่น“ ปลาทูตัวเล็ก ๔ – ๖ ตัวนั้น แม่บ้านแบ่งแจกจ่ายใส่จานให้ลูก ๆ ได้ทั่วคน ปลาที่แม่แบ่งให้ลูกกิน คือส่วนที่เป็นเนื้อปลา พ่อกับแม่รับประทานแต่หัวปลากับเศษของปลา เด็กทุกคนรับประทานอาหารอย่างโอชะ นั่งพับเพียบ…”
การวินิจสาร  อาจพิจารณาได้ว่าผู้เขียนมีเจตนายกย่อง ชมเชย ครอบครัวเล็ก ๆ แต่มี ความเป็นระเบียบและมีความสุข ด้วยความรู้สึกที่ประทับใจอย่างแท้จริง

หลักปฏิบัติในการอ่านวินิจสาร  การคิดวิเคราะห์ และ ตีความ
๑.  พิจารณาว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง  เรื่องใดเป็นข้อคิดเห็น  ตลอดจนความรู้สึกและ อารมณ์ของผู้เขียน  ซึ่งอาจแสดงออกโดยตรง หรือแสดงออกโดยผ่านพฤติกรรมของตัวละคร
๒.  วิเคราะห์และรวบรวมปฏิกิริยาของผู้อ่านที่มีต่องานเขียน  เป็นการที่ผู้อ่านวิเคราะห์ตัวเอง
๓.  การพิจารณาความคิดแทรก หมายถึง การพิจารณาข้อความรู้ความคิดที่ผู้เขียนมีไว้ในใจแต่ไม่ได้เขียนไว้ในงานเขียนนั้นตรง ๆในการอ่านวินิจสาร  การคิดวิเคราะห์ และ ตีความ  ผู้อ่านจะต้องทำอย่างละเอียดลึกซึ้ง หากผู้เขียนใช้ความหมายโดยนัย หรือ ความหมายแฝง  ซึ่งเป็นความหมายที่ชักนำความคิดให้เกี่ยวโยงไปถึงสิ่งอื่น  ซึ่งการใช้ภาษาในลักษณะนี้จะมุ่งที่ศิลปะการใช้ภาษามากกว่าศาสตร์  จะเป็นภาษาที่มีความไพเราะ และ มีความหมายพิเศษออกไป  เป็นความหมายที่ซับซ้อนตีความได้หลายอย่าง บางครั้งคำเพียงคำเดียวอาจมีความหมายได้ทั้งขัดแย้ง และ กลมกลืน  ดังนั้นในการตีความผู้อ่านจึงต้องอาศัยบริบท น้ำเสียงของผู้เขียน ทัศนคติของผู้เขียน และบางครั้งต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันเป็นเครื่องช่วยตัดสิน
 ดาวน์โหลด   ดาวน์โหลด (3)    ดาวน์โหลด (2)   ดาวน์โหลด (1)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น